การวัดแรงดัน (pressure measurement) เป็นการวัดค่าอัตราส่วนระหว่างขนาดของแรง (F) ที่กระทำในทิศทางตั้งฉากกับพื้นที่ (A) ใด ๆ โดยความดัน (pressure) มีหน่วยเป็นนิวตันต่อตารางเมตร (N/m2) หรือ ปาสคัล (Pa)
การวัดแรงดัน Pressure measurement
การวัดแรงดัน (pressure measurement) เป็นการวัดค่าอัตราส่วนระหว่างขนาดของแรง (F) ที่กระทำในทิศทางตั้งฉากกับพื้นที่ (A) ใด ๆ โดยความดัน (pressure) มีหน่วยเป็นนิวตันต่อตารางเมตร (N/m2) หรือ ปาสคัล (Pa)
การเลือกใช้เครื่องมือวัดความดันควรคำนึงถึง
1) ย่านความดัน (range)
2) ชนิดหรือรูปแบบของแรงดันแบ่งออกเป็น 4 ชนิด ดังนี้ ความดันสัมบูรณ์ (absolute pressure) ความดันเกจ (gauge pressure) ความดันแตกต่างหรือความดันดิฟเฟอเรนเชียล (differential pressure) และความดันต่ำกว่าบรรยากาศหรือสุญญากาศ (vacuum)
3) ชนิดและคุณสมบัติของตัวกลางที่ทำหน้าที่ส่งผ่านแรงดันอาจอยู่ในสถานะก๊าซหรือของเหลว โดยการพิจารณาคุณลักษณะของตัวกลางนั้น ๆ เช่น ความบริสุทธิ์ของของไหล การมีสารแขวนลอยปะปน การทำปฏิกิริยา และการกัดกร่อน เป็นต้น
การวัดแรงดันด้วยเครื่องมือวัดแบ่งตามหลักการทำงานเป็น 2 กลุ่ม คือ
• กลุ่มที่ทำงานโดยอาศัยหลักการเปลี่ยนแปลงทางกล เช่น บารอมิเตอร์ (barometer) มาโนมิเตอร์ (manometer) บูร์ดอง (bourdon guage) ไดอะแฟรม (diaphragm) และเบลโลว์ (bellow) เป็นต้น
• กลุ่มที่ทำงานโดยอาศัยหลักการทางไฟฟ้าร่วมกับทางกล สัญญาณทางด้านเอาต์พุตที่ได้เป็นสัญญาณทางไฟฟ้า เช่น ทรานสดิวเซอร์วัดแรงดันชนิดเปลี่ยนค่าความจุ ทรานสดิวเซอร์วัดแรงดันชนิดเปลี่ยนค่าความเหนี่ยวนำ และทรานสดิวเซอร์วัดแรงดันชนิดเปลี่ยนค่าความต้านทานหรือชนิดสเตรนเกจ เป็นต้น
การวัดแรงดันสามารถนำไปใช้วัดค่าตัวแปรอื่นได้ เช่น
• การวัดอัตราการไหล (flow measurement) ด้วยแผ่นออริฟิส (orifice plate) ซึ่งทำงานโดยอาศัยหลักการวัดค่าแรงดันแตกต่าง (differential pressure)
• การวัดระดับ (level measurement) ของเหลวในภาชนะโดยใช้หลักการวัดแรงดันสถิต (static head) และ
• การวัดอุณหภูมิ (temperature measurement) ด้วยเทอร์โมมิเตอร์ชนิดเปลี่ยนการขยายตัวเป็นแรงดัน (pressure thermometer) เป็นต้น